Statement of Purpose คืออะไร พร้อมแชร์เทคนิคการเขียนให้ปัง
การเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ นอกจากจะต้องมีผล IELTS หรือ TOFEL แล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญลำดับต้น ๆ ไม่แพ้ผลการเรียน และผลการสอบวัดระดับต่าง ๆ คือ Statement of Purpose หรือเรียกสั้นๆ ว่า SOP นั่นเอง เพราะในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยทั้งในระดับปริญญาตรี โท หรือเอก ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยไหน Statement of Purpose ถือเป็นใบเบิกทางที่จะทำให้น้อง ๆ สามารถเข้าคณะที่ใช่ และมหาลัยที่ใฝ่ฝันได้นั่นเองค่ะ
แล้ว statement of purpose คืออะไร ? มีความสำคัญอย่างไร ? SOP กับ Motivational Letter ต่างกันยังไง ? วันนี้พี่ ๆ ที่ The Advisor จะมาไขข้อสงสัยให้กระจ่าง พร้อมแชร์เทคนิคการเขียน Statement of Purpose ยังไงให้ปัง ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย
Statement of Purpose คืออะไร?
SOP กับ Motivational Letter จะต่างกันตรงที่ Statement of Purpose หรือ SOP น้อง ๆ สามารถเขียนบอกเล่าตามสไตล์ของน้อง ๆ เองได้เลย ไม่มีหัวข้อที่ตายตัว เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของเราว่าเราเรียนหรือ เคยทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง มีแรงบันดาลใจอะไรบ้าง เน้นการบอกเล่าเรื่องราวที่แสดงความเป็นตัวเองออกมามากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเขียนแค่ 2 หน้า และส่งให้กับทุกคณะในปริญญาตรี
ส่วน Motivational Letter น้อง ๆ จะต้องเขียนให้มีโครงสร้างที่ชัดเจน ตรงจุด เช่น มีการวางแผนในอนาคตยังไงบ้าง เน้นอธิบายความสำเร็จและเป้าหมายในชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเขียนแค่ 1 หน้าเท่านั้น และส่งให้กับหลักสูตรการวิจัยในระดับปริญญาเอก
ความสำคัญของ Statement of Purpose
statement of purpose คือ เอกสารสำคัญที่เปิดโอกาสให้อาจารย์ในคณะนั้น ๆ รู้จักตัวตนของเรามากขึ้นและเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้บอกกับมหาวิทยาลัยว่าทำไมเราถึงอยากเข้าศึกษาที่นี่ มีเป้าหมายอะไร และทำไมมหาลัยจะต้องรับเราเข้าเรียน
SOP กับ Motivational Letter ต่างกันยังไง
Statement of Purpose คือ บทความแนะนำตัวที่น้อง ๆ จะต้องเขียนเพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวเรา เช่น ประสบการณ์การเรียน การทำงานหรือทำกิจกรรม รวมถึงสิ่งที่น้อง ๆ ประสบความสำเร็จในอดีต
ซึ่ง Statement of Purpose ถือเป็นเอกสารสำคัญในการสมัครเรียนต่ออย่างยิ่งค่ะ ถ้าให้เปรียบเทียบก็เหมือนกับการเขียน Resume สมัครงาน เพื่อให้ได้งานนั่นเอง แต่ Statement of Purpose จะเป็นการสมัครเพื่อให้ได้เข้าเรียนต่อ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดแน่นอน ดังนั้นน้อง ๆ จะต้องเขียน Statement of Purpose ให้ออกมาโดดเด่นและแสดงความเป็นตัวเองออกมามากที่สุด
สำหรับความแตกต่างระหว่าง SOP กับ Motivational Letter แบ่งออกเป็น 5 ประเด็น ดังนี้
1. รูปแบบและโครงสร้างการเขียน
- Statement of Purpose มักไม่มีรูปแบบตายตัว สามารถเล่าเรื่องราวชีวิต ประสบการณ์ และเป้าหมายได้อย่างอิสระ เหมือนเขียนเล่าเรื่องด้วยภาษาตัวเองเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดว่าใครคือเจ้าของจดหมายนั้น
- Motivational Letter จะมีโครงสร้างที่ชัดเจนกว่า โดยส่วนใหญ่จะกำหนดหัวข้อหรือแนวทางในการเขียน ทำให้น้อง ๆ ต้องจัดวางเนื้อหาให้ตรงตามจุดที่สถาบันต้องการทราบ
2. ความยาวของเนื้อหา
- Statement of Purpose มักเขียนประมาณ 2 หน้า เพื่อให้สามารถอธิบายเรื่องราว ประสบการณ์ และความตั้งใจได้อย่างครอบคลุม
- Motivational Letter จะกระชับกว่า โดยทั่วไปจะจำกัดไว้แค่เพียง 1 หน้าเท่านั้น จึงต้องสื่อสารอย่างตรงจุดและกระชับมากขึ้น
3. ภาพรวมเนื้อหา
- Statement of Purpose มักเน้นเล่าเรื่องจากอดีต เช่น การเรียน การทำงาน หรือกิจกรรมที่ผ่านมาที่มีผลต่อการตัดสินใจสมัครเรียน โดยใช้สิ่งเหล่านั้นอธิบายความเชื่อมโยงกับแผนการศึกษา
- Motivational Letter จะเน้นไปที่การนำเสนอความสำเร็จที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถของตนเอง ควบคู่ไปกับการอธิบายเป้าหมายในชีวิตอนาคตที่ชัดเจน และเหตุผลว่าทำไมหลักสูตรนี้จึงเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น
4. ลักษณะการเขียนและฟอร์ม
- Statement of Purpose มักมาในรูปแบบบทความเรียงความ (Essay Form) ไม่มีการขึ้นต้นจดหมายอย่างเป็นทางการเหมือนจดหมายธุรกิจ
- Motivational Letter จะมาในฟอร์มจดหมายทั่วไป มีการระบุชื่อผู้รับ ชื่อคณะ หรือแผนกที่ส่งถึง คล้ายกับจดหมายสมัครงานมากกว่า
5. วัตถุประสงค์ในการใช้
- Statement of Purpose จะถูกใช้ในการสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี และในระดับปริญญาโท เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาเห็นถึงความเหมาะสมและความพร้อมของผู้สมัครในการศึกษาต่อ
- Motivational Letter มักถูกใช้ในการสมัครเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรระดับปริญญาเอก เพื่อประเมินแรงจูงใจและความมุ่งมั่นของผู้สมัครในการทำวิจัยและศึกษาในเชิงลึก
การวางโครงสร้างของ SOP มีอะไรบ้าง
โครงสร้างของ SOP โดยทั่วไปนิยมแบ่งออกเป็น 5 ย่อหน้าใหญ่ ๆ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การแนะนำตัวเอง จนถึงการสรุปวิสัยทัศน์ในอนาคต ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของผู้สมัครอย่างมีลำดับ
Paragraph 1: แนะนำตัว
เปิด SOP ด้วยพารากราฟที่น่าสนใจ โดยอาจเริ่มจากประโยค หรือ Motto ที่สะท้อนคาแรกเตอร์ของน้อง ๆ เพื่อดึงความสนใจของผู้อ่านทันที จากนั้นแนะนำตัวสั้น ๆ ระบุสาขาที่อยากเรียนให้ชัดเจน และระบุ Short Term Goals เพื่อแสดงให้เห็นว่า เรามีทิศทางที่ชัดเจน และเป้าหมายนั้นจะช่วยให้การเรียนของเราประสบความสำเร็จได้ ในส่วนนี้อาจจะไม่ต้องใช้เวลา หรือให้น้ำหนักมากเกินไปค่ะ
Paragraph 2: เหตุผลในการเลือกหลักสูตรและสถาบัน
ต่อเนื่องจากย่อหน้าแรก ย่อหน้านี้ควรอธิบายให้ชัดว่า ทำไมถึงเลือกเรียนหลักสูตรนี้ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ หลักสูตรนี้จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้อย่างไร โดยอ้างอิงจากข้อมูลจริง เช่น โครงสร้างรายวิชา จุดแข็งของคณะ อาจารย์ผู้สอน หรือความเชื่อมโยงของหลักสูตรกับเป้าหมายในอนาคต การเขียนส่วนนี้ให้ดี จะช่วยแสดงให้เห็นว่า น้อง ๆ ไม่ได้เลือกแบบผ่าน ๆ แต่มีค้นหาข้อมูลมาเป็นอย่างดี
Paragraph 3: ประสบการณ์และทักษะที่เกี่ยวข้อง
ในพารากราฟนี้ ควรอธิบายประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาที่ต้องการเรียน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย งานอาสา หรือโครงการที่เคยทำร่วมกับองค์กรต่าง ๆ จุดเด่นอยู่ที่การนำเสนออย่างมีบริบท เช่น บอกว่าเจออุปสรรคอะไร แก้ปัญหาอย่างไร และเรียนรู้อะไรจากสิ่งนั้น ไม่ใช่แค่การระบุชื่อกิจกรรมหรือหน้าที่เท่านั้นนะคะ
Paragraph 4: จุดแข็งและคุณสมบัติที่แสดงความเหมาะสม
ย่อหน้านี้เป็นช่วงที่ต้องแสดงให้เห็นว่า “เหตุใดเราถึงเหมาะกับหลักสูตรนี้” อาจกล่าวถึงคุณลักษณะส่วนตัว ทักษะเฉพาะ หรือความคิดสร้างสรรค์ที่มีความสอดคล้องกับการเรียนในหลักสูตร ยิ่งสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งที่มหาวิทยาลัยมองหาได้ ก็ยิ่งมีน้ำหนัก และถ้าสามารถระบุได้ว่า น้อง ๆ จะมีส่วนช่วยเติมเต็มคลาสเรียนหรือร่วมพัฒนาสังคมนักศึกษาในด้านใด ก็จะยิ่งโดดเด่นขึ้นอีกขั้น
Paragraph 5: บทสรุปและเป้าหมายในอนาคต
ในพารากราฟสุดท้าย ให้สรุปเป้าหมายในอนาคตทั้งระยะสั้นและระยะยาว แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและความมุ่งมั่นที่จะนำความรู้และทักษะที่ได้รับจากการศึกษาไปสร้างผลกระทบเชิงบวกในสาขาอาชีพของน้อง ๆ ปิดท้ายด้วยการแสดงความขอบคุณสำหรับโอกาสในการสมัครและพิจารณาค่ะ
เทคนิคการเขียน SOP ให้น่าสนใจ
- การเขียน SOP ที่ดีและให้น่าสนใจ เขียนถึงตัวตนของเราในด้านบวก โดยควรมีความยาวไม่เกิน 1-1.5 หน้าของกระดาษ A4 ค่ะ ในส่วนนี้แนะนำให้น้อง ๆ เขียนให้กระชับและมีความน่าสนใจ เขียนเปิดเรื่องให้มีความ Active เพื่อดึงดูดให้ผู้อ่านอยากอ่านต่อ
- คำศัพท์ที่ใช้ไม่จำเป็นต้องเป็นภาษาทางการมาก แต่ก็ควรเป็นภาษาเขียนที่ดู Professional อ่านแล้วไม่สะดุดด้วยคำพูดที่ดูหรูหราจนเกินไป และต้องวางโครงเรื่องที่มีการเชื่อมต่อกัน
- หากใน Statement of Purpose น้อง ๆ มีการพูดถึงคุณสมบัติของตัวเอง พี่แนะนำว่าควรเขียนในสิ่งที่จับต้องได้และพิสูจน์ได้จะดีกว่าค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีตัวเลขเพื่อชี้วัดความสำเร็จจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากกว่าคำพูด
- และสิ่งสุดท้าย ๆ ของการเขียน Statement of Purpose พี่แนะนำว่าควรเขียนถึงเป้าหมายที่ชัดเจน และต้องมีความมั่นใจ หรือเขียนถึงงานอดิเรก หรือความสนใจที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรที่เลือกที่สามารถนำไปปรับใช้ในการศึกษาได้ ทำให้ผู้อ่าน ๆ แล้วรู้สึกได้ว่าเราต้องการเขียนเรียนคณะนี้ด้วยความตั้งใจจริง
สรุป
นอกจาก statement of purpose จะเป็นใบเบิกทางให้น้อง ๆ สามารถเข้าคณะที่ใช่ได้แล้ว statement of purpose คือ สิ่งที่ทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ว่าเราต้องการอะไร มีจุดมุ่งหมายอย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าหากน้อง ๆ วางแผนอย่างมีลำดับขั้นตอน พี่เชื่อว่าน้อง ๆ สามารถไปถึงความสำเร็จนั้นได้แน่นอนค่ะ
หรือถ้าหากน้อง ๆ คนไหนที่อยากเรียนต่อต่างประเทศ ต้องการความช่วยเหลือ อยากรู้ว่าเขียนแนะนำตัวเองยังไงถึงจะเข้ามหาลัยได้ ก็สามารถปรึกษากับทางพี่ ๆ ที่ The Advisor ได้เลยนะคะ พี่ ๆ ทีมงานพร้อมดูแลและให้คำปรึกษาทั้งเรื่องการสอบรวมถึงช่วยวางแผนการเรียนต่อให้น้อง ๆ ฟรีอีกด้วยค่ะ